วันที่ 6-7 เมษายน 2567
นายโอภาส ถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 มอบหมายให้ นายภูวดิท ภณมณีโชติ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำที่ ๓ กำแพงเพชร นายชวลิต สุนันตา นายช่างโยธาชำนาญงาน ส่วนพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ สอน.3 กำแพงเพชร ร่วมกับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นำโดย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายอัครพันธุ์ พูลศิริ นายอำเภอท่าสองยาง และ นายอนันต์ เพ็ชร์หนู ผู้อำนวยการ สทนช.ภาค 1 พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมจัดทำแผนบูรณาการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ณ ที่ว่าการอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก
จากการลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ และการเก็บรวบรวมข้อมูลสภาพปัญหาจริงในแต่ละพื้นที่ พบว่า จังหวัดตาก ส่วนใหญ่มีลักษณะสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูงสลับกับที่ราบสูงเชิงเขา โดยอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และอุทยานแห่งชาติ ถึงร้อยละ 90 ประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ ปกากะญอ (กะเหรี่ยง) เป็นต้น รวมถึงเป็นที่ตั้งของค่ายผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่ มีแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง อีกทั้งชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร และใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติโดยเป็นระบบประปาภูเขา นอกจากนี้ แหล่งกักเก็บน้ำในแต่ละพื้นที่มีขนาดเล็กและไม่เพียงพอต่อความต้องการในช่วงฤดูแล้ง ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะกลางได้ขอความร่วมมือจากการประปาส่วนภูมิภาค กรมทรัพยากรน้ำ และกรมป่าไม้ ร่วมกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหารวมถึงการพัฒนาระบบประปาในแต่ละพื้นที่ ได้แก่ เพิ่มขยายแหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน การซ่อมแซมปรับปรุงระบบประปาที่มีอยู่เดิม รวมการออกแบบขยายหรือพัฒนาระบบประปาเพิ่มเติม การวางระบบตรวจสอบคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐาน และการจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ดูแลระบบประปาและประชาชนในพื้นที่ด้วย โดยให้เตรียมความพร้อมแผนงาน/โครงการเพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ ผ่านระบบ Thai Water Plan ต่อไป
สำหรับการดำเนินการในระยะยาวนั้น สทนช. ได้นำร่องจัดทำแผนการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับอำเภอ ในพื้นที่อำเภอ ท่าสองยาง จังหวัดตาก ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 6 ตำบล ได้แก่ ตำบลแม่ต้าน ตำบลท่าสองยาง ตำบลแม่อุสุ ตำบลแม่หละ ตำบลแม่สอง และตำบลแม่วะหลวง โดยการบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และที่สำคัญที่สุดคือ การระดมความคิดจากสมาชิก ในชุมชนเองมาร่วมวิเคราะห์สภาพปัญหาในพื้นที่จริงในประเด็นต่างๆ ได้แก่ บุคลากร (การสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ความร่วมมือของสมาชิกในชุมชน) ทรัพยากร (ทรัพยากรธรรมชาติ โครงสร้างพื้นฐานที่ชุมชนมีอยู่) งบประมาณ (งบประมาณที่มีอยู่ การเข้าถึงระบบของบประมาณ การบริหารจัดการงบประมาณ) แผนงานโครงการ (ความสมบูรณ์ของแผน หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการ) ซึ่งจะนำไปสู่การวางแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม และปัญหาคุณภาพน้ำ มุ่งเน้นการแก้ปัญหาน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นปัญหาหลักของอำเภอท่าสองยาง โดยจัดลำดับตามความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อจัดทำเป็นแผนระยะ 5 ปี ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ และการบริหารจัดการ เพื่อใช้เป็นทิศทางในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่อำเภอท่าสองยาง สำหรับการขอรับการจัดสรรงบประมาณแต่ละปีต่อไป