กรมทรัพยากรน้ำร่วมมือกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสภาวิศวกร ลงพื้นที่ตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยอาคาร/สิ่งปลูกสร้างด้านแหล่งน้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาวิชาชีพวิศวกรรมของบุคลากรกรมทรัพยากรน้ำ ล่าสุดวันที่ 25 มิถุนายน 2566 กรมทรัพยากรน้ำร่วมมือกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และสภาวิศวกร นำคณะลงพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำบุมะค่า จ.นครราชสีมา เพื่อตรวจสอบอาคารและสิ่งปลูกสร้างด้านแหล่งน้ำ เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงและบำรุงรักษาอ่างเก็บน้ำบุมะค่า ให้มีความมั่นคง ปลอดภัย และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสุงสุด ตามวัตถุประสงค์ของโครงการตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัย อาคารและสิ่งปลูกสร้างด้านแหล่งน้ำ นายประยุทธ์ ไกรปราบ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำ 1 เปิดเผยว่า จากนโยบายการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอในช่วงฤดูแล้ง ทั้งภาคครัวเรือนและการเกษตร รวมถึงการกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนไว้สำหรับหน้าแล้ง เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพระบบกระจายน้ำไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง เพิ่มรายได้และลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชน กรมทรัพยากรน้ำจึงได้ขับเคลื่อนนโยบายมาสู่การปฏิบัติ ตามบทบาทและภารกิจของกรม โดยการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีความมั่นคงอย่างยั่งยืน ทั้งนี้แนวทางการดำเนินงานตามภารกิจของกรมนั้น ครอบคลุมถึงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา รักษาสมดุลทรัพยากรน้ำโดยคำนึงถึงระบบนิเวศ ล้วนเกี่ยวข้องกับงานด้านวิศวกรรมในการออกแบบก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ อาคารควบคุมน้ำ รวมถึงการปรับภูมิทัศน์โดยรอบ จึงทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างกรมทรัพยากรน้ำ กับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะได้แลกเปลี่ยนความรู้เพื่อทำให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นายนิทัศน์ พรมพันธุ์ ผู้อำนวยการพัฒนาแหล่งน้ำ 2 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า "อ่างเก็บน้ำบุมะค่า เป็นโครงการที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2521 โดย รพช. ได้ถ่ายโอนโครงการนี้ให้กรมทรัพยากรน้ำดูแล ด้วยอ่างเก็บน้ำบุมะค่ามีการใช้งานมาค่อนข้างยาวนานทำให้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆเกิดความชำรุดทรุดโทรมในบางส่วน รวมถึงมีสภาพตื้นเขินเก็บน้ำได้ค่อนข้างน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งมีอาชีพทำการเกษตรปลูกข้าวและพืชสวน อาทิ มะพร้าว มะม่วง ปัจจุบันปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นด้วย รวมถึงพืชไร่ เช่น ข้าวโพดหวาน มันสำปะหลัง การลงพื้นที่ในวันนี้เป็นการสำรวจและตรวจสอบสภาพของอ่างเก็บน้ำว่าโครงสร้างยังมีความแข็งแรงดีหรือไม่ เกิดความชำรุดทรุดโทรมจุดไหนบ้าง ตลอดจนสภาพการเก็บกักน้ำเป็นอย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลให้กรมทรัพยากรน้ำสามารถวางแผนการปรับปรุงซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำบุมะค่าให้สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพเพื่อความสุขและประโยชน์ของชาวบ้านในพื้นที่" ด้านนายบุญเลี้ยง เกตุค้างพลู รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลมาบตะโกอิน กล่าวว่า "ผมอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เริ่มก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบุมะค่า ได้เห็นความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่นี่ ในฐานะที่ผมเป็นตัวแทนของชาวบ้าน พูดได้เต็มปากเลยว่าความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่นี่ดีขึ้นหลังจากมีน้ำใช้สำหรับทำเกษตร เพราะมันคือรายได้หลักของชาวบ้านที่นี่ แต่เดิมชาวบ้านทำนาปีเพียงอย่างเดียวเพราะมีปริมาณน้ำค่อนข้างจำกัด แต่หลังจากมีอ่างเก็บน้ำบุมะค่าก็ทำให้ชาวบ้านทำนาปี พืชสวนและพืชไร่ได้ตลอดทั้งปี หลังจากนี้อยากให้กรมทรัพยากรน้ำเข้ามาดำเนินการขุดลอกอ่างเก็บน้ำบุกมะค่าให้สามารถกักเก็บน้ำได้เต็มที่ ให้ชาวบ้านสามารถทำนาปรังได้ด้วย รวมถึงสามารถทำพืชสวนได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะสามารถเพิ่มรายได้ให้ครอบครัวและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น"