จากอิทธิผลของพายุมู่หลานที่ทำให้มีมวลน้ำปริมาณมากจากลำห้วยแม่ต๋า และแม่ส้าน ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ต๋า ในเขตบ้านนาไหม้ หมู่ 2 ต.เมืองมาย อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง จึงทำให้ไหลล้นสปิลเวย์ หรือทางระบายน้ำ ลงสู่ลำห้วยแม่ต๋า และไหลท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือน ในช่วงเช้าของวันที่ 12 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ระดับน้ำได้แห้งลงแล้ว แต่ประชาชนในพื้นที่ยังคงมีความเป็นห่วงและกังวล เนื่องจากอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ต๋าเป็นอ่างดิน ที่มีความจุเกือบ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้เกิดมีรอยร้าวรั่วบริเวณใต้ทางระบายน้ำ หรือทางน้ำล้นสปิลเวย์ ซึ่งขนาดรอยร้าวรั่วกว้างประมาณ 1 เมตร โดยเกิดความเสียหายมานานแล้วนั้น
นายโอภาส ถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 1 พร้อมด้วยทีมวิศวกร และนายติ๊บ บุญยืน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองมาย อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ได้ลงตรวจสอบพื้นที่เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันที่ 13 สิงหาคม 2565 เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย ผอ.สทภ.1 เปิดเผยว่าลักษณะข้อมูลของอ่างเก็บน้ำแม่ต๋าเป็นเขื่อนดินสันเขื่อนกว้าง 7 เมตร สูง 19.50 เมตร สันเขื่อนยาว 170 เมตร ความจุที่ระดับเก็บกัก 951,770 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งอัตราการระบาย Spillway แบบ side channel การระบายน้ำที่ออกแบบไว้สูงสุดน้ำไหลข้าม spill way สูง 1.92 เมตร จะระบายน้ำได้ 338 ลบ.ม/วินาที ปริมาณน้ำฝน 160 มม. ซึ่งในวันที่12 สิงหาคม 2565 ตามข่าวนั้น ฝนตกเฉลี่ย เพียง 73 มม. น้ำไหลข้าม spill way สูงเพียง 0.30 เมตรเท่านั้น ซึ่งเท่าอัตราการไหลผ่าน เพียง 60 ลบ.ม /วินาที เท่านั้น สรุปอ่างยังมีความสามารถระบายน้ำได้ โดยไม่เกิดความเสียหายต่อตัวอ่าง ประเด็นของความมั่นคงแข็งแรงของ spill way เนื่องจากพบรอยแตก ซึ่งรอยแตกที่สันอาคารระบายน้ำล้น สทภ.1 ได้ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า รอยแตกดังกล่าวเป็นรอยต่อของคอนกรีตบริเวณสันระบายน้ำล้น สัณนิฐาน ได้ว่ารอยแตกดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจากมีต้นไม้และวัชพืชที่ลอยมากับน้ำ เมื่อไม่มีการดูแล และกำจัดออกจึงทำให้ต้นไม้เติบโตและรากไม้ชอนไชบริเวณรอยต่อคอนกรีตจนแตกร้าว ซึ่งเกิดบริเวณสันระบายน้ำ ซึ่งก่อสร้างเป็นฝายสันมนภายในเป็นหินก่อทับหน้าด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กด้าน หนา 50 เซนติเมตร ด้านหลังหนา 30 เซนติเมตร และบริเวณที่เสียหายอยู่ที่รอยต่อด้านหลังซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อตัวเขื่อนหรือโครงสร้างของอาคารระบายน้ำล้นแต่อย่างใด
ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและลดความกังวลในระยะยาว สทภ.1 ได้วางแนวทางการดำเนินการดังนี้ เมื่อน้ำลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติจะเข้าสำรวจและซ่อมบำรุงทันที เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับประชาชนในพื้นที่ โดยการประสานกับ นายก อบต. ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจและลดความวิตกกังวลพร้อมทั้งให้มีการประกาศเสียงตามสายและชี้แจงกับนักข่าวอย่างต่อเนื่อง ในระยะยาว สทภ.1 จะดำเนินการจัดแผนงานในการปรับปรุงประสิทธิภาพตัวอ่างและซ่อมบำรุง ขุดลอกภายในอ่างเก็บน้ำ พร้อมทั้งสร้างระบบกระจายน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำให้กับชุมชนต่อไป